บทความนี้ไม่ได้แนะนำวิธีการแฮ็กบริการ VoIP ของค่ายไหนไหนหรือแนะนำว่าค่ายไหนบริการดีนะครับ แต่จะมาแนะนำช่องทางการโทรไปต่างประเทศราคาถูกๆผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า Voice Over Internet หรือ VoIP อ่ะครับ เผื่อจะมีบางท่านกำลังมองหาช่องทางการใช้บริการอยู่จะได้ช่วยท่านตัดสินใจว่าจะเลือกใช้รูปแบบไหนดี
1. ค้นหาผู้ให้บริการ VoIP
ลองสอบถามกับเพื่อนๆหรือคนรู้จักที่ใช้บริการ VoIP (หรือถามว่าเคยใช้หรือกำลังใช้บริการโทรไปต่างประเทศหรือเปล่า บางท่านอาจจะไม่รู้จักว่า VoIP คืออะไร เดี๋ยวจะเกิดอาการงง ) หรือค้นหาจาก Search Engine ก็ได้ ดูราคาประเทศปลายทางที่จะโทรไป หาราคาที่เราพอยอมรับได้ มีข้อแนะนำข้อนึงครับ ตอนนี้มีผู้ให้บริการปลอมๆอยู่เยอะมากโดยเฉพาะผู้ให้บริการในต่างประเทศ ประมาณว่าทำเว็บไซต์หรู ดูดี เพื่อหลอกลวงว่าเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ ให้คนตายใจ หลงโอนเงินค่าโทรไปให้ ขั้นต่ำก็เป็นหลายสิบ $ สุดท้ายก็ให้บริการแบบสุนัขไม่รับประทาน เสียงห่วย โทรติดยาก แจ้งปัญหาไปก็ไม่เคยจะตอบกลับ จะทวงเงินคืนก็ลำบาก ที่สุดเราก็ต้องเป็นฝ่ายทำบุญไป เยอะครับที่โดนหลอกแบบนี้และก็คงจะมีอยู่เรื่อยๆ
ราคาค่าโทรที่โชว์อยู่บนหน้าเว็บไซต์อาจจะไม่ใช่ราคาปัจจุบันก็ได้นะครับ เพราะผู้ให้บริการอาจจะลืมอัพเดท ราคาจริงอาจจะแพงกว่านั้น หรือไม่ก็ตั้งใจลงราคาไปผิดๆแบบนั้น (แล้วก็มีดอกจันทน์ * ไว้ตอนท้ายๆว่า บริษัทขอสงวนสิทธิ์ในกรณีที่พิมพ์ราคาผิดพลาด) เพื่อให้ดูราคาถูกกว่าคู่แข่ง อันนี้เรียกว่าใช้วิชามารครับ ลองโทรหรืออีเมล์ไปสอบถามดูครับว่าประเทศที่ท่านจะโทรไปนั้นเขาคิดอัตราค่าโทรยังไง นาทีละเท่าไหร่ คิดเป็นนาทีหรือวินาที คำว่าคิดเป็นนาทีก็หมายความว่าโทรไม่ถึงนาที เช่น 45 วินาทีก็คิดเต็มนาที (ปัจจุบันคิดกันแบบนี้) ส่วนคิดเป็นวินาทีก็คือ โทรไป 45 วินาทีก็คิดแค่ 45 วินาที แต่ก็มีผู้ให้บริการที่ใช้คำโฆษณาว่าคิดค่าบริการตามจริง ทำให้เราเข้าใจผิดว่าโทรไปเท่าไหร่ก็คิดเท่านั้น โทรไป 45 วินาทีก็คิดแค่ 45 วินาทีไม่ใช่ 60 วินาที แต่พอเอาเข้าจริงๆ มานนนน ก็คิด 60 วินาที เขาต้องบอกด้วยว่าคิดค่าบริการตามจริงนั้นเป็นนาทีหรือเป็นวินาที
ผู้ให้บริการในไทยมักจะคิด VAT ด้วย แต่ราคาที่โชว์บนเว็บไซต์จะยังไม่รวม VAT ครับ เพราะถ้ารวมเข้าไปจะทำให้ราคาดูแพงขึ้น แต่สำหรับผู้ให้บริการในต่างประเทศจะไม่มี VAT ครับ
ฉะนั้นถ้าจะใช้บริการจากผู้ให้บริการในต่างประเทศ ต้องเอาที่มีชื่อเสียง เชื่อถือได้ อย่าเสี่ยงกับผู้ให้บริการโนเมมเป็นอันขาดครับ ไม่งั้นจะเสียเงินฟรีๆ อยู่คนละประเทศกันตามลำบากครับ ถ้าไม่รู้ว่าจะใช้บริการจากค่ายไหนในต่างประเทศดีก็ใช้บริการในประเทศไทยนี่แหล่ะครับ มีอยู่หลายเจ้า ราคาอาจจะแพงกว่า แต่ถ้าบริการไม่ดีเราก็โทรไปต่อว่าและขอเงินคืนได้
การใช้บริการ VoIP เกือบทุกวิธีที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้จำเป็นต้องมีอินเตอร์เน็ตครับ ไม่งั้นจะใช้ไม่ได้ ถ้าไม่มีอินเตอร์เน็ตก็ต้องติดตั้ง ถ้าติดตั้งไม่ได้ก็ลองหาทางใช้งานแบบอื่นดู ซึ่งเป็นแบบที่ไม่ต้องใช้อินเตอร์เน็ตครับ
อินเตอร์เน็ตความเร็วซักขนาดไหนดี ก็อย่าเป็น Dial-Up Modem, GPRS, EDGE ก็พอครับ นอกนั้นใช้งานได้หมด เป็น Satellite ก็ได้แต่ขออย่าให้มีดีเลย์เกิน 800 ms และอย่าลิ้งค์มี Error/Loss มาก ไม่งั้นจะมีผลต่อคุณภาพเสียง เสียงสะดุด เสียงขาดหาย เสียงไม่สมูท เสียงก้อง เป็นต้น
2. ลงทะเบียนกับผู้ให้บริการ
พอเลือกผู้ให้บริการได้แล้ว ต่อมาก็ลงทะเบียนเพื่อให้ได้แอ๊คเค๊าท์มา การลงทะเบียนก็สะดวกครับลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ได้เลย แต่อาจต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวเข้าไปด้วย เช่น เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์แอดเดรส หมายเลขบัตรประชาชน เป็นต้น ลงทะเบียนเสร็จก็รอรับแอ๊คเค๊าท์ทางอีเมล์หรือทาง SMS บางเจ้าแถมเงินให้โทรฟรีจำนวนหนึ่ง บางเจ้าก็ไม่ให้เงินไว้โทรฟรี ต้องเติมเงินก่อนจึงจะโทรออกได้
แอ๊คเค๊าท์ที่ว่าอาจจะมีลักษณะเป็นเหมือนเบอร์โทรศัพท์ เช่น 06xxxxxxx หรือเป็นชื่อเลยเช่น nuiz ครับ และก็มีพาสเวอร์ดด้วยและอาจจะมีข้อมูลอย่างอื่นอีก อาทิเช่น หมายเลขไอพีของเซอร์เวอร์ หมายเลขพอร์ต วิธีการโทร วิธีการเติมเงิน วิธีการแจ้งปัญหา เป็นต้น
เบอร์โทรศัพท์ที่ว่าจะโทรเข้าได้จากแอ๊คเค๊าท์อื่นๆที่ลงทะเบียนอยู่กับผู้ให้บริการเดียวกัน และเป็นการโทรฟรีด้วย ยกตัวอย่างเช่น ผมได้เบอร์ 06012345678 อีกคนได้เบอร์ 06098765432 ผมกับเพื่อนก็โทรหากันได้ฟรี แต่สำหรับการโทรเข้าจากโครงข่ายอื่น เช่นโทรจากโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ ตอนนี้ยังโทรเข้าไม่ได้ครับแต่อนาคตก็ไม่แน่เหมือนกัน ถึงแม้ว่าจะโทรเข้าจากโครงข่ายอื่นไม่ได้ในตอนนี้ แต่ก็โทรออกไปหาโครงข่ายอื่นได้ครับไม่ว่าจะโทรในประเทศหรือต่างประเทศ อัตราค่าโทรก็แล้วแต่ผู้ให้บริการจะคิดครับ โดยทั่วไปเบอร์ปลายทางต่างประเทศผู้ให้บริการในต่างประเทศจะขายถูกกว่าผู้ให้บริการในไทย แต่อย่าดูที่ราคาเป็นหลักนะครับต้องระวังเรื่องหลอกลวงด้วย
ตอนนี้ทาง กทช ได้จัดทำเบอร์โทรศัพท์ VoIP เสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นเบอร์ที่ขึ้นต้นด้วย 06 และแจกจ่ายเบอร์ไปยังผู้ให้บริการ VoIP หลายรายแล้ว มีผู้ให้บริการ VoIP หลายรายในประเทศไทยได้เอาเบอร์ 06 เหล่านี้มาเป็นแอ๊คเค๊าท์ให้กับลูกค้า ตัวอย่างผู้ให้บริการได้แก่ TOT Netcall, TRUE NetTalk, SIP Phone เป็นต้น
3. อุปกรณ์ที่ต้องใช้
อุปกรณ์ที่จะใช้กับ VoIP ได้ เท่าที่ผมเคยเห็น มีดังต่อไปนี้ครับ
- Softphone
สมัยแรกๆใครจะใช้ Softphone ต้องมีคอมพิวเตอร์หรือไม่ก็โน๊ตบุ๊คครับ เพราะต้องลงโปรแกรม Softphone ลงไปในเครื่อง รองรับอยู่ 2 ระบบปฏิบัติการคือ Linux และ Windows ตอนนี้ก็รองรับหลายระบบแล้วรวมทั้ง Mac OS ด้วย โปรแกรม Softphone จะมีอยู่ 2 แบบนะครับ แบบแรกเป็นโปรแกรมที่ผู้ให้บริการ VoIP สั่งทำเป็นพิเศษ ซึ่งก็จะมี Logo มีตั้งค่าต่างๆไว้แล้ว เราแค่ใส่แอ๊คเค๊าท์และพาสเวอร์ดไปก็ใช้ได้แล้ว ไม่ต้องเซ็ตอะไรมาก ที่เว็บไซต์ของผู้ให้บริการมักจะมีให้คลิ๊กดาวน์โหลดครับ โปรแกรม Softphone ที่ดาวน์โหลดจากผู้ให้บริการรายหนึ่ง (อาจ)จะใช้ไม่ได้กับผู้ให้บริการรายอื่นนะครับ ฉะนั้นห้ามใช้ข้ามกันที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่ามีบางค่าที่ฝังเข้าไปในโปรแกรมแล้วและเราแก้ไขไม่ได้ เช่น ค่าไอพีแอดเดรสของเซอร์เวอร์ผู้ให้บริการ เป็นต้น เวลาโทรก็จะใช้ไมโครโฟนและหูฟัง
โปรแกรม Softphone แบบที่สอง เป็นแบบที่ยังไม่มีการฝังค่าใดๆลงไปในโปรแกรม เราเซ็ตอัพได้อิสระเลยครับ ไม่ว่าจะเป็น แอ๊คเค๊าท์ พาสเวอร์ด ไอพีแอดเดรสของผู้ให้บริการ หมายเลขพอร์ตเชือมต่อ วอยส์โคเด็ค เป็นต้น ซึ่งก็มีอยู่หลายโปรแกรมครับ ลองดูที่หมวด Softphone ในเว็บนี้ได้เลยครับ ทุกโปรแกรมใช้งานได้ฟรี
เมื่อติดตั้ง Softphone และเซ็ตอัพแอ๊คเค๊าท์ คอนเน็คอินเตอร์เน็ต เมื่อลงทะเบียนสำเร็จแล้วก็พร้อมที่จะโทรออก
แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ทำให้โปรแกรม Softphone ไม่จำเป็นต้องติดตั้งลงในเครื่องคอมพิวเตอร์เสมอไป เพราะมีเวอร์ชั่นบนมือถือแล้ว ไม่ว่าจะเป็นมือถือที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Symbian, Android, Black Berry, Windows Mobile หรือเครื่อง iPhone, iPad, iPad จีนที่ลง Android พวกนี้ติดตั้ง Softphone ได้หมดครับ สำหรับมือถือ Symbian นั้นมักจะมีโปรแกรม VoIP อยู่ข้างในแล้ว ผมเคยใช้รุ่น Nokia E65 แล้วเซ็ตอัพ VoIP ผ่าน WiFi คุณภาพเยี่ยมเลยครับ
แต่ไม่ว่าจะใช้ Softphone บนเครื่องคอมพิวเตอร์หรือมือถือก็ตาม ต้องมีอินเตอร์เน็ตไว้เชื่อมต่อกับเซอร์เวอร์ของผู้ให้บริการ การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตก็ทำได้หลายช่องทางครับ เช่น ADSL, WiFi, 3G, EDGE, GPRS, Dial-Up Modem แต่ 3 แบบหลังนี้ไม่แนะนำครับคุณภาพเสียงไม่ดี แต่คุยได้นะผมเคยลองมาแล้ว
โปรแกรม MSN, Skype ก็เป็น Softphone เหมือนกันครับ โทรหากันฟรี โทรออกภายนอกเสียค่าโทร
- USB Phone
เป็นเหมือนเครื่องโทรศัพท์ต่อเข้ากับช่อง USB ในคอมพิวเตอร์ ลงโปรแกรมไดร์เวอร์เพิ่มเติม ใช้งานก็ง่าย
- VoIP Gateway
เป็นอุปกรณ์ที่ส่วนมากเป็นกล่องสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ทำจากพลาสติก อลูมิเนียม หรือไม่ก็เหล็กบางๆ ภายในมีแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ภายนอกมีช่องต่อ LAN, WAN, FXS (ต่อกับเครื่องโทรศัพท์ธรรมดา เครื่องแฟ็กซ์ หรือพอร์ต CO Line ของตู้สาขา), FXO (ต่อกับเบอร์โทรศัพท์ เบอร์ภายในของตู้สาขา), E&M (ต่อกับตู้โทรศัพท์ที่มีพอร์ต E&M) หรือ E1 (ต่อกับตู้สาขาโทรศัพท์ที่มีพอร์ต E1 หรือพอร์ต E1 Trunk จากชุมสายโทรศัพท์) บางรุ่นก็มีพอร์ต FXS, บางรุ่นก็มี FXO บางรุ่นก็มี E1 บางรุ่นก็มีพอร์ตผสมกัน
อุปกรณ์ที่มีพอร์ต LAN และ WAN เราจะต่อ WAN เข้าเร้าท์เตอร์หรือสวิตซ์ในออฟฟิศนะครับ ส่วนพอร์ต LAN เราไม่ได้ใช้งานหรือจะต่อกับเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ได้ (ถ้ามี)
ข้อดีของ VoIP Gateway คือต่อกับตู้สาขาโทรศัพท์ได้ ทำให้แชร์กันใช้ภายในบ้าน ภายในออฟฟิศได้ และที่สำคัญไม่ต้องใช้คอมพิวเตอร์ด้วย แต่ยังไงซะก็ต้องมีอินเตอร์เน็ตครับ ข้อเสียคือการเซ็ตอัพอาจทำไม่ได้ง่ายๆโดยเฉพาะมือใหม่ คอนฟิกผ่านเว็บ มีศัพท์ทางเทคนิคหลายคำที่อาจจะงงๆ ผมแนะนำว่าควรให้บริษัทที่ขายมาเซ็ตให้ดีกว่าแล้วถามเขาว่าเซ็ตตรงไหนบ้าง เซ็ตเป็นค่าอะไร ผมมว่าเขาคงยินดีบอกครับ
- IP Phone
เป็นอุปกรณ์เหมือนเครื่องโทรศัพท์บ้าน แต่มีพอร์ตต่อ LAN และ/หรือ WAN ใช้งานได้โดยไม่ต้องเปิดคอมพิวเตอร์ คอนฟิกก็คล้ายๆกับ VoIP Gateway คอนฟิกผ่านเว็บหรือกดปุ่มตรงแผงหน้าปัทม์ โชว์เบอร์โทรเข้า ระยะเวลาที่คุย เมมเบอร์ได้ เปลี่ยนเสียงเรียกเข้าได้ การเชื่อมต่อก็ต่อพอร์ต WAN (ถ้า IP Phone มีพอร์ต WAN ด้วย) เข้าเร้าท์เตอร์ ส่วนพอร์ต LAN เอาไว้ต่อกับคอมพิวเตอร์เพื่อแชร์เน็ต (ถ้ามีเครื่องคอม)
- โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์สาธารณะ โทรศัพท์เคลื่อนที่
ถ้าไม่มีอินเตอร์เน็ตก็ยังใช้งาน VoIP ได้อยู่นะครับ โดยใช้ผ่านบริการที่เรียกว่า Calling Card และ Callback ทั้งสองบริการนี้มีในประเทศไทยมาหลายปีแล้ว มีผู้ให้บริการอยู่นับสิบๆราย เราคุ้นเคย Calling Card มากกว่า Callback เพราะว่าเราใช้บริการของ 001, 009 โทรต่างประเทศกันมานาน บริการนี้เป็น Calling Card ที่ไม่ต้องเสียค่าโทรเข้า เรียกได้ว่าถ้าโทรไปแล้วปลายทางไม่รับสายเราก็ไม่ต้องเสียเงินสักบาท แต่ถ้าปลายทางรับสายเราก็จะเสียเงินตามอัตราที่กำหนด ราคาก็ไม่ถูกเท่าไหร่ ดีตรงที่คุณภาพเสียงใช้ได้ และเป็นการโทรก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลัง มีบิลโทรศัพท์มาเรียกเก็บตอนวันครบกำหนดบิล
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Calling Card แข่งขันกับ 001, 009 หลายราย แต่ละผู้ให้บริการก็จะมีเบอร์โทรศัพท์ซึ่งมักจะเรียกว่า Access Number ไว้คอยให้ลูกค้าโทรเข้าไปใช้บริการ เกือบทุกรายลูกค้าต้องเสียค่าโทรเข้าด้วย ยกตัวอย่างเช่น ถ้า Access Number เป็นเบอร์ 02 ลูกค้าโทรจากในกรุงเทพๆหรือปริมณฑล ก็จะเสียค่าโทรเข้าครั้งละ 3 บาท (ครั้งละ 3 บาท ถ้าเบอร์ 02 นั้นเป็นของ TRUE หรือ TOT) แต่ถ้าเบอร์ 02 เป็นเบอร์ของ 3BB เช่นเบอร์ที่ขึ้นต้นด้วย 0210x อันนี้ผมไม่ทราบครับว่าจะยังครั้งละ 3 บาทอยู่หรือเปล่า ส่วนการโทรเข้า 001, 009 เราไม่ต้องเสียค่าโทรเข้าครับ
ผู้ให้บริการที่มี Access Number ที่เป็นเลข 3 หลัก ได้แก่ CAT (001, 009), TOT (007, 008), TRUE (006), DTAC (004), AIS (005), TT&T (102)
อีกบริการหนึ่งเรียกว่า "Callback" ลักษณะการใช้งานคือ โทรเข้าไปที่ Access Number ของผู้ให้บริการ หลังจากได้ยินสัญญาณว่าง ระบบจะตัดสายเองหรือเราต้องกดวางสายเอง อันนี้แล้วแต่ผู้ให้บริการจะกำหนดครับ เราไม่ต้องเสียค่าโทรเข้า Access Number เหมือนอย่างกรณี Calling Card เพราะเบอร์ Access Number มันไม่ได้ตอบรับสายของเรา เมื่อโทรเข้าเบอร์ของเราจะไปปรากฏที่ฝั่งผู้ให้บริการ จากนั้นระบบจะโทรกลับมา (นี่เป็นที่มาของคำว่า Callback) เราก็รับสาย และกดไปเบอร์ปลายทาง
จะเห็นว่าการโทรไปต่างประเทศโดยใช้โทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์สาธารณะ โทรศัพท์มือถือ สะดวกมากมาย ไม่ต้องใช้อินเตอร์เน็ต อยู่ชนบทห่างไกลขนาดไหนก็ยังใช้บริการได้ แต่ก่อนใช้บริการก็ต้องสมัครกับผู้ให้บริการก่อนนะครับ
กรณีที่ใช้โทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์เคลื่อนที่ก่อนอื่นก็ต้องลงทะเบียนกับผู้ให้บริการก่อนครับ เช่นอาจจะซื้อการ์ดจากเซเว่น ซีเอ็ด หรือตามแหล่งจำหน่าย ขูดการ์ดเอาตัวเลขที่เรียกว่า PIN Number มา จากนั้นโทรเข้าไปตามเบอร์ที่อยู่ในการ์ด กดรหัส PIN การลงทะเบียนก็เสร็จเรียบร้อย ผู้ให้บริการบางรายก็อาจจะมีเงินอยู่ใน PIN แล้ว เราก็โทรไปต่างประเทศได้เลย บางรายก็ต้องกด PIN ก่อนใช้งานทุกครั้ง บางราย (ส่วนใหญ่) กด PIN ครั้งแรกครั้งเดียว ครั้งต่อไปก็ไม่ต้องกดอีกแล้ว ซึ่งระบบได้จดจำเบอร์โทรศัพท์ไว้แล้ว
จะเห็นว่าการใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศจากโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์สาธารณะ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยโทรเข้า Access Number ของผู้ให้บริการก่อน จากนั้นคอยฟังเสียง IVR ซึ่งอาจจะบอกจำนวนเงินคงเหลือ ระยะเวลาที่โทรได้ ดูเหมือนจะยุ่งยากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับผู้ให้บริการรายใหญ่ๆ เช่น CAT, TOT, IS, TRUE, DTAC, TT&T การใช้บริการรายใหญ่ๆง่ายมาก เพียงกด 00x ตามด้วยรหัสประเทศ รหัสพื้นที่ และหมายเลขปลายทาง แล้วรอปลายทางรับสาย เมมเบอร์ไว้ใน Phonebook ได้ แถมยังไม่ต้องเสียค่าโทรเข้า 00x อีก แต่ท่านก็ต้องเลือกเอาครับว่าจะใช้บริการจากผู้ให้บริการรายย่อยหรือรายใหญ่ เพราะค่าโทรมันต่างกันมาก อีกอย่างในปัจจุบันนี้ผู้ให้บริการรายย่อยก็ได้พัฒนาระบบของตนเองให้ใช้งานได้ง่ายเทียบเท่าหรือดีกว่า
4. ผู้ให้บริการ VoIP
ผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศในประเทศไทยขณะนี้ผมว่ามีจำนวนเกิน 100 รายแล้วนะครับ แทบทุกรายจะมีให้บริการทั้ง Softphone, VoIP Gateway, IP Phone, Mobile Phone, Calling Card, Callback ตัวอย่างของผู้ให้บริการที่ผมเคยเข้าไปดูเว็บไซต์และราคาของเขาได้แก่
** หมายเหตุ ผมไม่เกี่ยวข้องอะไรกับผู้ให้บริการด้านล่างนี้นะครับ ผม Search ใน Google เจอก็เอามาโพสต์เป็นตัวอย่าง ให้ท่านลองเข้าไปศึกษาดูหนะครับ **
Mouthmun
Thookdee
Thai Telephone
SIP Phone
SawasdeeShop
ConnectTalk
TOT Netcall
TRUE NetTalk
Easy Card
Easy World Card
ZayHi
CSLox VPhone
TollD
CallCafe
CAT2Call
CallCallCall
DeeDial
RinCall
Hatari
ฯลฯ
และยังมีรายย่อยๆที่ไม่มีเว็บไซต์ ประกาศโพสต์ในเว็บบอร์ดอีกจำนวนมาก ราคาถูกกว่ารายที่มีเว็บไซต์อีกนะครับ